สมเด็จเจ้าฟ้าแก้ว กรมขุนเสนาบริรักษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาธิราชของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประสูติกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากถือว่าเป็น "ลูกชู้" จึงไม่ได้รับยกย่องให้เป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์จึงมีพระยศเป็น "หม่อมแก้ว"
สมเด็จเจ้าฟ้าแก้ว กรมขุนเสนาบริรักษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยได้ประสูติกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ซึ่งเป็นน้องสาวของพระเพทราชา และเป็นบาทบริจาริกาเป็นพระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ด้วยความมากด้วยกามคุณของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จึงได้ลอบเสพสังวาสกับสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย แต่เป็นการลับไม่ถึงพระเนตรพระกรรณ แต่ความเกิดแตกเนื่องจากตัวพระสนมเอง โดยนางได้ผ่านทางเข้าห้องที่ประทับของในหลวง ได้เห็นฉลองพระองค์ชั้นนอกของเจ้าฟ้าน้อยถอดวางไว้ ด้วยเป็นธรรมเนียมของการเข้าเฝ้าที่ต้องเปลือยกายครึ่งท่อนเสียก่อน ครั้นนางจำฉลองพระองค์ขององค์ชายได้ จึงให้นางทาสีหยิบนำไปเก็บไว้ที่ห้องของนางเสีย ด้วยคิดว่าองค์ชายจะทราบดีว่าผู้ใดเอาไป แล้วจะได้ติดตามไปในตำหนักของพระนาง แต่เจ้าชายหาได้เฉลียวใจเช่นนั้น เมื่อเจ้าชายออกมาไม่พบฉลองพระองค์ แต่โขลนทวารไม่ทราบว่าผู้ใดเอาไป จึงได้เที่ยวกันตามหาทั่วพระราชวัง เรื่องจึงเข้าถึงพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์จึงทรงพิโรธเป็นอันมากที่มีผู้เข้ามาลักทรัพย์ถึงในพระราชฐาน แค่พระทวารห้องที่ประทับของพระองค์แท้ๆ และผู้ที่มาหยิบก็ต้องออกมาจากพระราชฐานฝ่ายในเท่านั้น จึงมีรับสั่งให้ค้นให้ทั่วทันที โดยเข้าไปในตำหนักของพระสนมเอกก่อน จึงได้พบฉลองพระงค์ของเจ้าชาย ที่มิได้ซุกซ่อนให้มิดชิดวางอยู่ เหล่านางกำนัล และนางทาสีจึงชิงกันกราบทูลกล่าวโทษพระสนม สร้างความพิโรธแก่สมเด็จพระนารายณ์ฯเป็นอันมาก แม้กระนั้นพระองค์ก็มิทรงปรารถนาที่จะถือเอาแต่โทสจริต หรือวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้คณะที่ปรึกษาแผ่นดินของพระองค์เป็นผู้วินิจฉัยคนทั้งสอง
พระเพทราชาซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่ในแผ่นดินด้วยการสนับสนุนของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นน้องสาว มิได้คัดค้านคำพิจารณาพิพากษา หรือขอรับพระราชทานอภัยโทษให้แก่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เลย กลับเป็นคนแรกที่ธำรงอำนาจวาสนาตนไว้ ด้วยการเสนอให้พิจารณาลงโทษนางที่เคยพระคุณต่อตนถึงขั้นประหารชีวิต คณะที่ปรึกษาได้พิจารณาลงโทษให้เอานางสนมไปโยนให้เสือกินเสีย ส่วนเจ้าฟ้าน้อยนั้นก็ทรงต้องระวางโทษให้สำเร็จโทษด้วยการใช้ไม้จันทน์สองท่อนบีบอัดเสียให้สิ้นพระชนม์ โดยอย่าให้โลหิตตกต้องแผ่นดินได้ โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประหารพระสนมเอกตามคำพิพากษา ส่วนพระอนุชาธิราชได้พระราชทานผ่อนโทษลง แต่ด้วยถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงทรงทรงพิจารณาลงทัณฑ์ให้สาหัสด้วยหวาย และทรงเห็นว่าพระเพทราชาเป็นผู้หนึ่งที่ปรารถนาที่จะสำเร็จโทษเจ้าชาย เพื่อเป็นการแก้แค้นที่กระทำการลบหลู่พระเกียรติของพระองค์ จึงมีพระราชอาญาให้พระเพทราชา กับพระปีย์เป็นผู้ลงโทษ จนพระวรกายนั้นบวมผิดปกติ มีอาการอ่อนเปลี้ยที่พระเพลา และมีการคล้ายเป็นอัมพาตที่พระชิวหา ทำให้พูดไม่ได้ บางคนก็กล่าวว่าพระองค์ทรงแกล้งเป็นใบ้
ด้วยเหตุที่หม่อมแก้ว เป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ซึ่งเป็นชู้รักกัน เมื่อท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ให้พระประสูติกาลพระโอรสแล้ว จึงมีรับสั่งให้ลงพระราชอาญาในความผิดโดยจับโยนให้เสือกิน
ด้วยความที่เป็น ลูกชู้ พระองค์จึงมิได้รับการยกย่องในฐานะพระราชนัดดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์จึงมีพระยศเป็นเพียง "หม่อมแก้ว" (ภายหลังพระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) แก้ไขพระยศเป็น พระองค์แก้ว) จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเพทราชา จึงโปรดสถาปนาให้หม่อมแก้ว พระราชนัดดา ไว้ในตำแหน่ง "กรมขุนเสนาบริรักษ์" เจ้าต่างกรม โดยปรากฏในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์เจ้ากรม (จาด) ซึ่งสันนิษฐานว่าชำระในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อันเป็นต้นแบบพระราชพงศาวดาร ฉบับความพิสดารต่างๆที่ชำระในสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ความว่า
ถึงเดือนสี่แล้วจวนพระราชพิธีตรุษเสด็จปราบดาภิเษก ทรงพระนามสมเด็จพระมหาบุรุษราชบพิตรเจ้า จักพระอัครมเหสีเดิมเป็นฝ่ายขวา จัดพระเจ้าลูกเธอพระนารายณ์เป็นเจ้า แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทองสองพระองค์เป็นฝ่ายซ้าย ฉิมบุตรภรรยาพนักงานของกินตั้งเป็นเจ้าอยู่นางพญา ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอรับพระบัณฑูรฝ่ายหน้า เอาหม่อมแก้วบุตรท้าวศีรจุลาลักษผู้น้องเป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์ ธิดาพรรวะสาน้อยพรรวะสาใหญ่พระราชทานเครื่องสูงแลเครื่องราชาบริโภครับพระบัญชา นายทรงบาตรหลานเธอเป็นพระอไภยสุรินทร กรมขุนทิพพลภัก พระราชทานเครื่องสูงแลเครื่องราชาบริโภครับพระบัญชา เอาขุนองค์เป็นเจ้าพญาวิชิตภูบาน พระราชทานเครื่องสูงให้อยู่วังหลัง...
ส่วนพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งได้ชำระในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก้ไขขยายพลความของเหตุการณ์ในสมัยพระเพทราชาโปรดให้แต่งตั้งพระราชวงศ์ และข้าหลวงเดิมไว้ในตำแหน่งต่างๆว่า
จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็พระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ โปรดให้พระอรรคมเหสีเดิมนั้นเป็นอรรคมเหสีกลาง และตั้งเจ้าฟ้าศรีสุวรรณซึ่งเรียกกันว่าพระราชกัลยาณี ซึ่งเป็นกรมหลวงโยธาทิพ เป็นพระบรมราชภคินีของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้านั้นเป็นอรรคมเหสีฝ่ายขวา ตั้งเจ้ากรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาแห่งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้านั้นเป็นอรรคมเหสีฝ่ายซ้าย ตั้งพระราชบุตรีของพระองค์ ทรงพระนามฉิม เป็นลูกสนมนั้นเป็นพระแม่อยู่หัว นางพระยา ตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์แก้ว ซึ่งเป็นบุตรท้าวศรีสุลาลักษณ์ อันเป็นพระราชกนิษฐาของพระองค์นั้น เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์...
แต่เดิมเชื่อกันว่ากรมขุนเสนาบริรักษ์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันประสูติแด่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) แต่จากประวัติศาสตร์สมัยอยุทธยาฉบับตุรแปง กลับให้ข้อมูลว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ตั้งครรภ์กับสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย มิได้เกิดกับพระราชสวามีตามที่เชื่อกันมาแต่เดิม
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จเจ้าฟ้าแก้ว_กรมขุนเสนาบริรักษ์